วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในเขตตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตามประวัติกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองจัดสร้างป้อมปราการจำนวน 6 ป้อม ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด ๓ ปีจึงแล้วเสร็จ เมื่อสร้างป้อมเสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้อำนวยการสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่เกาะหาดทรายท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ เพื่อปกป้องประเทศชาติและพระศาสนา โดยโปรดฯ ให้กรมพระราชวังสถานมงคลมหาศักดิพลเสพ กับพระยาราชสงครามเขียนแบบแผนผังรูปพระเจดีย์ถวาย แล้วทรงเฉลิมพระนามว่า “ พระสมุทรเจดีย์ ”

แต่ยังมิได้ทันก่อสร้างก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีธรรมราชกับเจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองจัดสร้างต่อการก่อสร้างเริ่มเมื่อวันอังคาร ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 12 (ตรงกับวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370) แล้วเสร็จเมื่อวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 (ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2371) ลักษณะขององค์พระสมุทรเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ต่อมาได้มีผู้ร้ายลักลอบขุดองค์ระฆังลักเอาพระบรมธาตุที่บรรจุอยู่ภายใน


สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์ที่กรุงศรีอยุธยามาจัดการก่อสร้างสวมทับพระเจดีย์รูปเดิมไว้ โดยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมวัดจากฐานล่างจนถึงยอดสูงสุด 19 วา จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 12 องค์ จากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุไว้แทนของเดิมที่สูญหายไป ในการนี้ได้โปรดฯให้สร้างศาลาเก๋งจีน หอเทียน หอระฆัง พระวิหารพร้อมด้วยพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร กับหลักผูกเรือริมน้ำรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ ฯลฯ สิ้นพระราชทรัพย์ในการก่อสร้าง 588 ชั่งเศษ และในรัชกาลต่อมาก็ได้มีการทำนุบำรุง และบูรณะปฏิสังขรณ์พระสมุทรเจดีย์มาโดยตลอด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระสมุทรเจดีย์เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2487 และเล่ม 110 ตอนที่ 186 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2536


วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ช้างเอราวัณ

สถานที่: Erawan Museum
ที่ตั้ง: ถนนสุขุมวิท ขาเข้าจังหวัดสมุทรปราการ
เวลาทำการ: 8 นาฬิกา - 18 นาฬิกา
ค่าบัตรเข้าชม: ผู้ใหญ่ 150 บาท, เด็ก 50 บาท 50 บาท สำหรับค่าผ่านประตูโดยไม่เข้าชมภายในตัวพิพิธภัณฑ์
เลื่อนลงเพื่อดูอัลบั้มภาพและแผนที่ทางอากาศ
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 12 ไร่ ของบริษัท ธนบุรีประกอบยนต์ จำกัด ตำบลบางเมืองใหม่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างจากแรงบันดาลใจ และความคิดของ คุณเล็ก วิริยะพันธ์ ผู้สร้างเมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ และปราสาทสัจธรรม เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อให้เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุ มรดกทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ และเพื่อสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ไทยให้คงอยู่สืบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป ช้างเอราวัณหรือช้างสามเศียร เป็นประติมากรรมลอยตัวด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำจากโลหะทองแดง แผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือนำมาเรียงต่อกันด้วยความประณีตนับแสนชิ้น ตัวช้างรวมอาคารมีความสูง 43.60 เมตร (หรือสูงขนาดตึก14-17ชั้นโดยประมาณ) อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนบนของตัวช้าง เฉพาะส่วนหัวมีน้ำหนักประมาณ 100 ตัน ลำตัวช้างหนัก 150 ตัน สูง 29 เมตร กว้าง 12 เมตร และยาว 39 เมตร ตัวช้างออกแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุมีค่า เช่น ภาพวาดสีฝุ่นรูปจักรวาล พระพุทธรูปปางลีลา บริเวณท้องช้างปูด้วยไม้มะเกลือสีออกดำ ส่วนล่างของตัวช้าง เป็นฐาน โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารศาลามีความสูง 14.60 เมตร กระจายน้ำหนักตัวช้างด้วยคานวงแหวนรอบนอกและรอบในบนอาคาร ถ่ายน้ำหนักลงเสาแปดเสาภายนอกและสี่เสาภายในอาคารศาลาการตกแต่งภายในเป็นการ ผสมผสานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้กระจกสีแบบศิลปะตะวันตก, เครื่องเบญจรงค์สลับลวดลายสอดสี, การดุนโลหะบนแผ่นดีบุกของช่างเมืองนครศรีธรรมราช และรูปปั้นโบราณชนิดต่าง ๆ อาทิ คนธรรพ์บรรเลงดนตรี รูปพญานาค ของช่างเมืองเพชร ส่วนชั้นใต้ดินที่เรียกว่า “ชั้นบาดาล” เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการและโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปสมัยต่าง ๆ และเครื่องลายครามของจีน ระเบียงรอบนอกตัวอาคารประกอบด้วยซุ้มแปดซุ้ม รอบพิพิธภัณฑ์เป็นอุทยานพรรณไม้ในวรรณคดี และพันธุ์ไม้หายากจากทุกภูมิภาคของประเทศ มีงานประติมากรรมลอยตัวเรื่อง รามเกียรติ์ วางเรียงรายล้อมรอบอาคาร
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2371 3135-6 โทรสาร. 0 2380 0304

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

เที่ยวแบบไทย ๆ เที่ยวไป กินไป ที่ไหนมีของอร่อย จะมีคนตามไปกินเสมอ เช่นเดียว กับที่นี่ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตลาดน้ำแห่งใหม่ใกล้กรุง ที่อำเภอ พระประแดง สมุทรปราการ มีเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เริ่มเวลา 7 โมงเช้า เป็นต้นไปจนถึงเย็น แม้เพิ่ง เปิดตัวมาได้ไม่นาน แต่มีคนมาเที่ยวกัน มากโดยเฉพาะวันอาทิตย์จะมีคนมาเที่ยวประมาณ 4,000 คน มีนักท่องเที่ยวฝรั่งมาเที่ยวด้วย

เสน่ห์ตลาดน้ำที่นี่ คือวิถีชีวิตชาวบ้านริมคลอง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เชื้อสายมอญ น้ำในคลองยังสะอาด มีของพื้นบ้านอร่อย ๆ ที่ชาวบ้านทำมาขายเอง มีเรือพายขาย ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ ขนมจีนน้ำยา หอยทอดในถาดขนมครก ขนมใส่ไส้ มีกลุ่มแม่บ้าน สตรีทำขนมทองหยอด เม็ดขนุน ฝอยทอง การทำกาละแมกวนมาขาย แต่สุดยอดของ อร่อยที่นี่ คือ ห่อหมกหมู ที่ต้องมาแต่เช้าจึงจะได้ทาน เพราะมาบ่ายจะขายหมด นอกจากนี้ก็มีผลไม้จากสวนที่มีอยู่ทั่วไปสองฝั่งคลอง ผลไม้ขึ้นชื่อที่สุดของบางน้ำผึ้ง คือมะม่วงน้ำดอกไม้ และยังมีไม้ดอกไม้ประดับ สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ ไข่เค็มดินสอพอง บริเวณตลาดน้ำมีเรือพายให้บริการ ถ้าพายเป็นจะพายเองก็ได้ ค่าเช่าชั่วโมงละ 20 บาท หากต้องการคนพายให้ เพิ่มอีก 20 บาท นั่งเรือลัดเลาะชมพื้นที่สีเขียว 2 ฝั่งคลอง มีทั้งป่าจาก สวนมะม่วง และมะพร้าว ในอนาคตจะมีบริการจักรยานให้เช่าด้วย
ที่เที่ยวใกล้เคียง
วัดมอญต่าง ๆ ที่อยู่ในพระประแดง สวนสาธารณะศรีนครเขื่อนขันธ์ พระสมุทรเจดีย์ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
การเดินทาง
ขับรถมาเองจะสะดวกที่สุด โดยใช้ทางด่วนมาลงที่ถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อลงทางด่วน ขับมาเรื่อย ๆ จะเห็นสามแยก พระประแดง-สุขสวัสดิ์ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าตรงข้างปั๊มน้ำมัน BP พอถึงตลาด พระประแดงให้เลี้ยวซ้ายผ่านวัดทรงธรรม วรวิหาร ไปประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ช่วงนี้เส้นทางกำลังมีการก่อสร้างทางด่วน ผิวถนนขรุขระ และเมื่อพบป้ายบอกทาง เข้าตลาดน้ำให้เลี้ยวขวาเข้ามาอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงสถานีอนามัยบางน้ำผึ้งซึ่งเป็นที่จอดรถ
การเดินทางโดยรถประจำทาง สามารถโดยสารรถประจำทางที่วิ่งมายังพระประแดงแล้วต่อรถสาย บางคอบัวและมอเตอร์ไซค์ไปยังตลาดน้ำ ปอ.138 วิ่งจากจตุจักรขึ้นทางด่วนมาลงตลาดพระประแดงได้เลย หรือ สาย 82 วิ่งจากสนามหลวงก็มาถึง พระประแดงเช่นกัน แต่ถ้าโดยสารรถ ปอ.140 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อรถลงจากทางด่วนสุขสวัสดิ์ ให้ลงป้ายแรก แล้วต่อรถสาย 82 เข้าตลาดพระประแดง หรือจากปากเกร็ดมีรถสาย 506 ไปยังตลาดพระประแดง ได้เช่นกัน จากตลาดพระประแดง มีรถสีฟ้าประจำทางสายบางคอบัว ค่าโดยสาร 5 บาท ถึงปากทางเข้าตลาดและต่อมอเตอร์ไซค์ รับจ้างมาอีก 6 บาท